ค้นหา
ชาวโลจิสติกส์พร้อมหรือยังกับการเข้าสู่ยุคอภิมหาข้อมูล

ชาวโลจิสติกส์พร้อมหรือยังกับการเข้าสู่ยุคอภิมหาข้อมูล

นักคิดนักเขียนเกี่ยวกับอนาคตท่านหนึ่งชื่อว่า Gerd Leonhard ชาวสวิส ได้เคยพูดไว้ในปี 2013 ว่า “อนาคตภายใน 6-7 ปี ข้อมูลจะมีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองมากกว่าพลังงาน”  โดยที่ Gerd ได้สรุปในเบื้องต้นว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจของโลกได้เคลื่อนตัวจากการที่เคยขับเคลื่อนด้วยพลังงานน้ำมัน (Oil) ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data) ซึ่งในอดีตเราคงคุ้นเคยกับกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน (Big Oil) กลุ่มบริษัทผู้ค้าน้ำมันยักษ์ใหญ่ทั้ง 5 บริษัทที่เราคุ้นเคยได้แก่ บีพี, เซพรอน, เอ็กซอนโมบิล, เชลล์ และโทเทล

Gerd Leonhard

จากข้อมูลในอดีตปี 2004 บริษัทในกลุ่ม “Big Oil” มีมูลค่าการตลาดใน 10 อันดับแรกจำนวนถึง 3 บริษัท มีมูลค่ารวม 33 % ของมูลค่าทั้ง 10 อันดับ ในขณะที่มีกลุ่ม “Big Data” ติดอันดับมาเพียง 1 บริษัทคือ ไมโครซอฟท์มีมูลค่ารวม 11 % และในปี 2014 พบว่ามูลค่าการตลาดของ 10 บริษัทที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในโลกซึ่งอยู่ในกลุ่ม Big Data คือ แอปเปิ้ล, ไมโครซอฟท์ และกูเกิ้ล (อันดับ 1, 3 และ 5 ตามลำดับ) โดยมีมูลค่ารวมคิดเป็น 38 % ของมูลค่ารวมของทั้ง 10 อันดับ ส่วนกลุ่ม “Big Oil” ยังมีเหลือติดมาเพียงแค่ 2 อันดับคือ เอ็กซอนโมบิล และปิโตรไชน่า โดยมีมูลค่ารวมกันคิดเป็น 20 % จากทิศทางเศรษฐกิจของโลกที่กล่าวมา จะเห็นว่ากลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ได้เคลื่อนตัวจากบริษัทที่มีรายได้จากการขับเคลื่อนด้วยพลังงานน้ำมันไปสู่การขับเคลื่อนด้วยข้อมูลสารสนเทศ (ยังไม่ได้นับกลุ่ม Facebook, Amazon และ Alibaba ที่เริ่มมีอันดับดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง)  ช่วยยืนยันคำทำนายของ Gerd ว่าได้เป็นจริงแล้วโดยไม่ต้องใช้เวลารอไปถึง 6-7 ปี ดังนั้นความสำคัญของธุรกิจในอนาคตอาจกล่าวได้ว่า การทำงานในอนาคตจะมีการใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น หรืออาจกล่าวว่า “ข้อมูลคือน้ำมันชนิดใหม่” (Data is the new oil) การจัดการในแนวคิดที่กำลังมาแรงคือเรื่องข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีและระบบต่างๆ ในปัจจุบันที่ทำให้เกิดการมีข้อมูลมากมายหลายรูปแบบจากหลายแหล่งที่มา Big Data ถ้าแปลเป็นแบบไทยคงจะเป็นเรื่องของ ข้อมูลที่มีจำนวนมากมายมหาศาล จนบางคนเรียกว่าอภิมหาข้อมูล การเกิด Big Data มาจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคมข้อมูลข่าวสารทำให้เกิด 4 ส่วนที่สำคัญคือ

  1. ข้อมูลมีปริมาณมากขึ้นอย่างรวดเร็ว (Volume) จนทำให้การจัดเก็บในรูปแบบฐานข้อมูลเดิมทำได้ยากและยังอาจจะไม่สามารถจัดเก็บได้ทั้งหมด
  2. ข้อมูลมีรูปแบบที่หลากหลายรูปแบบ (Variety) มีปริมาณแบบการนำเสนอข้อมูลที่มากแบบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังสามารถเสนอได้ในหลายช่องทางเช่น ข้อความ รูปภาพ วีดิโอ มัลติมีเดีย
  3. ข้อมูลจะมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว (Velocity) เกิดเป็นข้อมูลที่ใหม่ทันสมัยและเพิ่มปริมาณที่มากขึ้นอย่างรวดเร็วจากทุกสื่อทุกช่องทาง เช่น ข้อมูลจาก Social Media ข้อมูล Transaction ข้อมูลทางการเงิน เป็นต้น
  4. ข้อมูลจะมีการปรับเปลี่ยนไปต่อเนื่อง (Veracity ) จากการที่ข้อมูลมีความไม่ชัดเจน ไม่มีรูปแบบที่แน่นอนตายตัว (unstructured) อาจมีให้เห็นได้ไม่ชัดเจน (uncleaned) หรือสูญหายล้าสมัยได้ง่าย

จากที่มีการพูดถึงข้อมูลขนาดใหญ่กันเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน อาจเพราะเป็นยุคที่ข้อมูลจาก Social Media ที่เฟื่องฟู จนมีข้อมูลเกิดขึ้นจำนวนมาก ทุกคนสามารถที่จะผลิตข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย และยังเกิดมีอุปกรณ์ (Device) ที่มีความหลากหลายจำนวนมากราคาถูกลง จนเกิดมีอัตราการขยายตัวการใช้ที่สูงขึ้นมีการเข้าถึงใช้งานข้อมูลจำนวนมากได้อย่างง่ายดาย ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าข้อมูลนั้นมีขนาดใหญ่จริงหรือไม่และจะใช้ช่วยในการทำงานได้ดีแค่ไหน

ที่มา: www.iok2u.com

แชร์บทความ หรือข่าวสาร

Facebook
Line
Mail