ค้นหา
การดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ย้อนกลับของอุตสาหกรรม

การดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ย้อนกลับของอุตสาหกรรม

ในการศึกษาการจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การจัดการกระบวนการแปรรูปและเคลื่อนย้ายวัตถุดิบจนถึงการกระจายสินค้าสำเร็จรูปไปถึงมือลูกค้า ในขณะที่การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบหรือสินค้าจากลูกค้าปลายทางกลับไปถึงซัพพลายเออร์ในขั้นต้นนั้นหรือที่เรียกว่าโลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse logistics) ได้รับความสนใจน้อยกว่า สภาผู้บริหารโลจิสติกส์ย้อนกลับ  (Reverse Logistics Executive Council) ได้กำหนดคำนิยามของโลจิสติกส์ย้อนกลับว่าเป็นกระบวนการของการวางแผน การประยุกต์ใช้ และการควบคุมการไหลของวัตถุดิบ สินค้าคงคลัง สินค้าสำเร็จรูป และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จากจุดที่ทำการบริโภค (Point of Consumption) มายังจุดเริ่มต้น (Point of origin) เพื่อทำการกำจัดอย่างมีประสิทธิภาพหรือดึงมูลค่าเพิ่มของสินค้านี้ออกมาได้อีก

ในปี 200 มูลค่าของโลจิสติกส์ย้อนกลับในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 58,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ๆ  ดำเนินการนำชิ้นส่วนของรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งานมาใช้ประโยชน์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีวัตถุอันตรายไม่ว่าจะเป็นสารตะกั่วหรือปรอท ซึ่งจะถูกนำไปทิ้งทุกปีนั้น บริษัทชั้นนำ เช่น Apple, Sony หรือ Dell ได้เริ่มโครงการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยที่อัตราการนำกลับมาใช้จะอยู่ที่ 5% ถึง 50% ขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรม นอกจากนี้โลจิสติกส์ย้อนกลับมีความน่าสนใจมากขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าในตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งบริษัทต่าง ๆ จะนำหลักการของโลจิสติกส์ย้อนกลับมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร  ลดต้นทุนในโซ่อุปทาน และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า  อีกทั้งยังสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลาย ๆ ประเทศในยุโรปและประเทศแคนาดาได้บังคับใช้กฎหมายในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

กระบวนการส่งคืนสินค้า

โดยส่วนใหญ่แล้ว บริษัทมีกระบวนการส่งคืนสินค้า ได้แก่การรับสินค้า, การจัดเรียง, การทดสอบ, การจัดเก็บและการส่งสินค้าออกไป สินค้าที่แตกต่างกันจะถูกนำส่งไปในเส้นทางที่ต่างกัน  ในขณะเดียวกันสินค้าชนิดเดียวกันแต่มีข้อบกพร่องต่างกัน จะถูกนำส่งไปในเส้นทางที่ต่างกันได้ จากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจภาคอุตสาหกรรม กระบวนการส่งสินค้าโดยทั่วไปสามารถแสดงได้ในรูปที่1 โดยคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญ เช่น ความต้องการสินค้าสภาพของสินค้าและบรรจุภัณฑ์  การทดสอบและการซ่อมแซมสินค้า ตลาดมือสอง และการกำจัดสินค้า

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและความร่วมมือ

กระบวนการโลจิสติกส์ย้อนกลับมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องติดตามการเคลื่อนที่ของสินค้าอย่างชัดเจนในโซ่อุปทานและการเข้าถึงฐานข้อมูลระหว่างพันธมิตรเป็นขีดความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญของโลจิสติกส์ย้อนกลับเช่นเดียวกันกับโซ่อุปทานทั่วไป นอกจากนี้การร่วมกันวางแผนพยากรณ์ การวางแผนการผลิตร่วมกับการสร้างตัววัดประสิทธิภาพการผลิตด้วยกัน รวมทั้งการทบทวนกระบวนการของความร่วมมืออย่างสม่ำเสมอเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กรในบางกรณีของโลจิสติกส์ย้อนกลับ สินค้าส่วนใหญ่จะมีกระบวนการจัดการให้สามารถมาวางจำหน่ายได้อีก ทั้งนี้อาจจะมีการดัดแปลงหรือแก้ไขสินค้านั้นก็ได้ เนื่องจาก 75% ของสินค้าที่ถูกส่งกลับคืนไม่ได้เป็นสินค้าที่ชำรุดหรือบกพร่อง แต่จะเป็นสินค้าที่ถูกส่งคืนเนื่องจากไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง หรือมีข้อมูลที่ผิดพลาด ส่วนสินค้าที่เหลืออาจจะถูกส่งไปขายต่อที่ตลาดมือสองหรือแยกเพื่อนำเอาชิ้นส่วนไปใช้งานต่อหรืออาจจะนำไปกำจัดก็ได้

สรุป

โลจิสติกส์ย้อนกลับมีผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรได้ โดยมีส่วนในการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า พร้อมทั้งเป็นการนำมูลค่าของสินค้าที่อยู่จะยังคงเหลือในสินค้าที่ส่งคืนกลับมาใช้ได้อีก นอกจากนี้การสนับสนุนของผู้บริหารโดยการกำหนดเรื่องของการส่งคืนสินค้าเป็นงานประจำหรือภารกิจหลักขององค์กร จะสามารถส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ย้อนกลับให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นได้

ที่มา: www.iok2u.com

แชร์บทความ หรือข่าวสาร

Facebook
Line
Mail